เคล็ดลับการกู้ซื้อบ้าน

การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินหลาย ๆ แห่งอาจจะมีเงื่อนไขที่เข้มงวดขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าธนาคารจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้เลย ในทางกลับกัน ธนาคารนั้นมีอัตราการแข่งขันสูงขึ้น เพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ธนาคารมองกว่า มีเครดิตที่ดีพร้อมตามเกณฑ์ที่ธนาคารตั้งไว้ ซึ่งคนส่วนมากยังจำเป็นต้องใช้แหล่งเงินจากธนาคารในการซื้อบ้าน การขอสินเชื่อหรือกู้เงินจึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น คุณต้องทำความเข้าใจและศึกษาในรายละเอียดต่าง ๆ อย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันการสูญเสียเงินมากเกินความจำเป็นได้

shutterstock_189839636.jpg

  • เครดิตของคุณต้องดี

ก่อนที่คุณจะขอกู้ซื้อบ้าน คุณต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าติดเครดิตอะไรบ้าง ทำเครดิตเสียหรือไม่ และติดบัญชีดำของศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติหรือไม่ เนื่องจากไม่ว่าคุณจะสร้างหนี้ด้วยบัตรเครดิต การขอสินเชื่อส่วนบุคคล หรืออื่น ๆ ที่คุณไม่สามารถชำระและปิดยอดได้ทั้งหมด คุณอาจจะมีรายชื่อติดในเครดิตบูโรก็ได้ การพิจารณาให้กู้ขึ้นอยู่กับรายงานเครดิตบูโรของคุณเป็นหลัก หากคุณไม่ติดเครดิตบูโร หรือสร้างเครดิตที่ดีมาโดยตลอด เชื่อเถอะค่ะว่า คุณก็มีโอกาสได้รับการอนุมัติวงเงินกู้จากธนาคารสูงมากเลยทีเดียว

 

  • การซื้อบ้านต้องมีเงินออม

เรื่องสำคัญอีกหนึ่งเรื่องนั่นก็คือ การซื้อบ้านคุณจะต้องมีเงินออม เพราะทางธนาคารส่วนมากจะไม่ปล่อยกู้เต็มจำนวนของราคาซื้อขาย ปกติจะให้สินเชื่ออยู่ที่ 70 – 90% ส่วนต่างที่เหลือ คุณต้องมีเงินออมไว้ เพื่อจ่ายในการซื้อบ้านและเป็นข้อมูลที่ธนาคารจะพิจารณาเครดิตของคนขอสินเชื่อบ้านด้วย ก่อนที่จะซื้อบ้าน และกู้เงินคุณต้องประเมินกำลังซื้อของตัวเอง จากรายได้ที่มีอยู่ทั้งของตัวเองและของครอบครัวด้วยว่า สามารถซื้อบ้านได้ในราคาเท่าไร การประเมินกำลังซื้อบ้าน และการขอสินเชื่อสามารถขอคำปรึกษากับธนาคารได้ หรือคุณอาจจะใช้เครื่องมือคำนวณอัตโนมัติที่มีให้บริการอยู่หลายเว็บไซต์ก็สามารถประเมินค่าเงินได้ในเบื้องต้นค่ะ

 

  • กำหนดระยะเวลาผ่อนชำระให้เหมาะสม

สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย แนะนำให้ผ่อนชำระ 20 – 30 ปี เพื่อให้เงินงวดที่จะผ่อนชำระมีจำนวนลดลง โดยปกติแล้วทางธนาคารจะให้วงเงินกู้ประมาณ 15 – 30 เท่าของรายได้ และอาจจะลดหลั่นมากน้อยตามแต่กลุ่มอาชีพ ธนาคารมักจะกำหนดให้เงินงวดต่อเดือนประมาณ 25 – 30% ของรายได้รวมของผู้กู้ อย่างเช่น รายได้ 20,000 บาทต่อเดือน ทางธนาคารจะให้ผ่อนอยู่ประมาณ 5,000 – 6,000 บาทต่องวด อย่างนี้ก็ถือว่าภาระหนี้ที่ต้องชำระต่อเดือนมีความพอเหมาะ และสามารถเตรียมเงินไว้ชำระอย่างสบาย ๆ ไม่เดือดร้อน

 

  • สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการพิจารณาสินเชื่อของธนาคาร

การพิจารณาอนุมัติเงินกู้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง อาจใช้เวลาเร็วช้าที่ต่างกัน โดยทั่วไปแล้วการยื่นกู้จนถึงอนุมัติให้กู้ของสถาบันการเงินในปัจจุบันจะใช้เวลาประมาณ 10 – 20 วันทำการ ซึ่งมีขั้นตอนการพิจารณาที่คล้ายคลึงกัน นั่นก็คือผู้กู้จะต้องติดต่อขอแบบฟอร์มและยื่นความจำนงขอกู้พร้อมทั้งนำหลักฐานประกอบการขอกู้ให้ครบตามที่ธนาคารกำหนด จากนั้นในการยื่นกู้สถาบันการเงินจะเก็บค่าธรรมเนียมประเมินราคา

 

  • หลักประกันที่ต้องใช้ในการกู้

สถาบันการเงินจะทำการสำรวจ และประเมินราคาบ้านพร้อมที่ดิน ที่จะนำมาเป็นหลักประกัน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 – 5 วันทำการ จากนั้นจะเริ่มพิจารณาคำขอกู้โดยทางธนาคารจะวิเคราะห์รายได้ และหลักประกันของผู้กู้ รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ และจะแจ้งผลการขอกู้ทรัพย์ที่ผู้กู้นำมาเป็นหลักประกัน ในกรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทางธนาคารก็สามารถบังคับเอาจากหลักประกันเหล่านั้นได้นั่นเอง

 

  • วงเงินกู้ และระยะเวลาที่ขอกู้

เมื่อคุณซื้อบ้าน คิดจะขอกู้เงินควรตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่า จะกู้ในระยะเวลานานแค่ไหน ซึ่งโดยทั่วไปธนาคารจะให้กู้ตั้งแต่ 5 – 30 ปี การตัดสินใจตรงนี้จะขึ้นอยู่กับวงเงินกู้ และความสามารถในการผ่อนชำระเงินกู้ของผู้กู้ เพราะหากผู้กู้ต้องการวงเงินกู้สูงแต่ความสามารถในการผ่อนชำระค่อนข้างต่ำ จึงจำเป็นต้องขยายเวลาออกไปให้นานที่สุดเป็น 25 – 30 ปี เพื่อที่จะให้เงินงวดลดลง จนถึงจุดที่คุณสามารถผ่อนชำระได้ เนื่องจากวงเงินกู้เท่ากันและอัตราดอกเบี้ยเท่ากัน ก็ยิ่งจะทำให้คุณผ่อนนานมากขึ้นไปอีก

 

  • คำนวณเงินงวดให้เหมาะสมกับความสามารถ

ปกติแล้ว ทางสถาบันการเงินที่อนุมัติให้คุณกู้ จะอยู่ที่ประมาณ 70 – 80% ของราคาประเมิน หรือราคาซื้อขาย แต่ในปัจจุบันตลาดมีการแข่งขันที่สูง สถาบันการเงินได้ทำข้อตกลงกับโครงการจัดสรร หรือโครงการที่ธนาคารให้การสนับสนุนทางด้านการเงินอาจจะให้วงเงินกู้สูงถึง 90 – 100% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขาย ส่วนระยะเวลากู้ธนาคารมักกำหนดระยะเวลากู้นานสูงสุดประมาณ 15 – 30 ปี (ขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน) แต่ธนาคารส่วนมากจะกำหนดให้ระยะเวลากู้เมื่อรวมกับอายุผู้กู้แล้วต้องไม่เกิน 65 – 70 ปี อย่างเช่น อายุ 40 ปี จะสามารถกู้ได้สูงสุด 30 ปี อย่างนี้เป็นต้น สำหรับผู้กู้ที่มีกำลังผ่อนในปัจจุบันในระยะเวลา 15 ปี หรือ 20 ปี คาดการณ์ว่าในอีก 2 – 3 ปี ข้างหน้าภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัวจะสูงขึ้น จะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการผ่อนชำระได้ จึงขอขยายระยะเวลากู้เป็น 25 – 30 ปี ก็สามารถทำได้ เพื่อให้เงินงวดที่ผ่อนต่อเดือนน้อยที่สุด เพราะในอนาคต เมื่อครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้นก็สามารถชำระเงินงวดเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ได้ อย่างเช่น เดิมผ่อนเดือนละ 8,000 บาท ก็อาจจะเพิ่มเป็นเดือนละ 10,000 บาท หรือมากกว่าก็ได้ ซึ่งจะทำให้หนี้เงินกู้หมดเร็วขึ้น

ดังนั้นเงินกู้ตามสัญญาเดิม 25 ปี ก็อาจจะผ่อนหมดในเวลาสั้นลงเหลือเพียง 10 ปี แต่จะกู้ได้นานสูงสุดกี่ปีนั้นจะขึ้นอยู่กับอายุของคุณด้วย โดยธนาคารส่วนมากจะกำหนดว่าเมื่อรวมอายุของผู้กู้บวกกับระยะเวลากู้แล้วต้องไม่เกิน 60 – 65 ปี ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการเงินจะกำหนดค่ะ

ขอขอบคุณ : moneyhub.in.th